bookmark_borderเล่นมือถือนานระหว่างนั่งส้วม เสี่ยงอะไรบ้าง

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผู้คนจึงมีพฤติกรรมติดมือถือมากขึ้น กระทั่งเวลาเข้าห้องน้ำหรือนั่งส้วม ก็ต้องพกมือถือเข้าไป และใช้เวลานานมากกับการเข้าห้องน้ำในแต่ละครั้ง เพราะมัวแต่เล่นมือถืออยู่นั่นเอง พฤติกรรมนี้เป็นกันทุกเพศ แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่า ซึ่งรู้หรือไม่ว่าการนั่งส้วมนานๆ เนื่องจากเล่นมือถือนั้น เสี่ยงทำให้เกิดโรคได้

เพราะว่าภายในห้องน้ำมีเชื้อโรคอยู่แล้ว ยิ่งในห้องน้ำสาธารณะที่มีผู้คนเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ดังนั้นจึงควรทำธุระส่วนตัวของตนเองให้เรียบร้อย โดยเฉพาะในกรณีที่ถ่ายหนัก ก็ควรจะตั้งใจขับถ่ายให้เสร็จ ส่วนโรคที่เสี่ยงจะเกิดขึ้น หากคุณเป็นคนที่มีพฤติกรรม ชอบนั่งแช่เล่นมือถือในห้องน้ำ มีอะไรบ้างไปดูกัน

ท้องผูก
โดยปกติหากมีอาการท้องผูก ก็มักจะใช้เวลาในการเบ่งอุจจาระนานอยู่แล้ว ดังนั้นจึงแนะนำว่าถ้าหมดอาการปวดแล้ว ก็ควรออกจากห้องน้ำ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถท่าทางเสียก่อน ไม่ควรจะนั่งแช่ ไว้รู้สึกปวดใหม่ก็ค่อยมาเข้าห้องน้ำอีกรอบ ส่วนคนที่ไม่ได้มีอาการท้องผูก แล้วเอามือถือเข้าไปเล่นในห้องน้ำด้วย ทำให้ไปจดจ่ออยู่กับมือถือมากเกิน จนไม่ได้สนใจการเบ่งหรือขับถ่าย และอาการปวดก็หายไป กว่าจะปวดอีกบางทีอาจจะข้ามคืนเลยก็ได้ ฉะนั้นการเล่นมือถือตอนนั่งส้วม สามารถทำให้เสียสมาธิในการเบ่งถ่าย และนำไปสู่อาการท้องผูกได้

ท้องร่วง
โรคท้องร่วงที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกี่ยวกับการนั่งนาน แต่เมื่อเราเอามือถือเข้าไปในห้องน้ำด้วย และมือก็ไปสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ แล้วก็มาจับมือถือ หลังจากเสร็จธุระแน่นอนว่าเราต้องล้างมือ แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้ล้างมือถือด้วย ทำให้ตัวมือถือกลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคได้ ดังนั้นเมื่อเราจับมือถือแล้วไปหยิบจับของกินเข้าปาก ก็อาจมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย จนทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้นั่นเอง

เหน็บชา หน้ามืด
ไม่ว่าส้วมที่นั่งจะเป็นแบบนั่งยอง หรือชักโครก หากนั่งนานๆ เมื่อไหร่และไม่ได้ขยับเปลี่ยนอิริยาบถเลย แน่นอนว่าจะต้องเกิดอาการเหน็บชาตามมา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ส่วนอาการหน้ามืด ก็เป็นผลมาจากการก้มเล่นมือถือ และนั่งส้วมเป็นเวลานาน พอจะลุกขึ้นหรือปรับเปลี่ยนท่า จึงทำให้มีอาการรู้สึกมึนงง โซเซ และวิงเวียน

ริดสีดวงทวารหนัก
ในการนั่งหย่อนก้นนานๆ จะทำให้มีเลือดไปคั่งอยู่ที่บริเวณหูรูดทวารหนัก บวกกับเบ่งอุจจาระก็จะทำให้มีเลือดไปคั่งมากขึ้น ดังนั้นหากกระทำซ้ำๆ ด้วยการนั่งแช่ เบ่งอุจจาระนาน และมีปัจจัยร่วมจากผู้ที่มีอาการท้องผูกด้วย ก็อาจทำให้เกิดริดสีดวงได้เช่นกัน

การเข้าห้องน้ำนั่งส้วม ไม่ควรนั่งนานเกิน 10-15 นาทีในกรณีถ่ายหนัก ส่วนกรณีปัสสาวะก็ควรทำธุระให้เสร็จเรียบร้อย และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ ไม่ควรพกมือถือเข้าไปเล่นห้องน้ำ เพราะจะทำให้เสียสมาธิในการเบ่งถ่าย และเป็นการเสียมารยาทด้วยหากคุณใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ ที่มีคนต่อคิวใช้อีกเป็นจำนวนมาก

bookmark_borderทำความรู้จักกับ “คลองรากฟัน”

อาการแบบไหนที่บ่งบอกว่าต้องรักษาคลองรากฟัน

ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน อาจมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ฟันผุหรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน มักเริ่มจากมีอาการเสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น หรือเมื่อทานอาหารหวาน ๆ และอาจรู้สึกเจ็บเวลาเคี้ยวอาหาร ต่อมาอาการปวดอาจเกิดขึ้นมาได้เอง ปวด ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปวดรุนแรงจนนอนไม่หลับ ทำให้ตื่นมาเนื่องจากปวดฟันมาก หากการอักเสบติดเชื้อลุกลาม อาจทำให้มีอาการปวดบวมเหงือกหรือบริเวณใบหน้าได้
  • ฟันแตกลึกถึงโพรงประสาทฟัน มักเกิดจากการเคี้ยวอาหารแข็งหรือกัดโดนของแข็ง มักมีอาการปวดหรือเสียวฟันมากเวลาเคี้ยว
  • ฟันตายเนื่องจากได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ อาจพบว่าฟันเปลี่ยนสี มีสีคล้ำ หรือมีอาการเหงือกบวม มีตุ่มหนอง เป็น ๆ หาย ๆ
  • ฟันที่มีการสูญเสียเนื้อฟันไปมากจนไม่สามารถบูรณะฟันด้วยการอุดฟันหรือทำครอบฟันได้ จำเป็นต้องรักษาคลองรากฟันและใส่เดือยฟันเพื่อให้ครอบฟันหรือวัสดุบูรณะฟันสามารถยึดติดอยู่ได้

วิธีการรักษาคลองรากฟัน

การรักษาคลองรากฟัน เป็นการกำจัดเนื้อเยื่อในโพรงฟันตามด้วยการทำความสะอาดภายในคลองรากฟัน เพื่อให้ปราศเชื้อและอุดคลองรากฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

ขั้นตอนการรักษา เริ่มจากการใส่ยาชา ใส่แผ่นยางกันน้ำลาย จากนั้นจึงกรอฟันเพื่อเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน กำจัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออกร่วมกับการล้างคลองรากฟัน และใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟัน เมื่อฟันมีอาการปกติแล้วจะทำการอุดคลองรากฟัน หลังจากนั้นจึงจะทำการบูรณะตัวฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

การรักษาคลองรากฟัน โดยปกติจะใช้เวลาการรักษาประมาณ 1-3 ครั้งขึ้นอยู่กับความยากง่ายและระดับความรุนแรงของการติดเชื้อในฟันแต่ละซี่ หลังการรักษาในแต่ละครั้งอาจพบอาการปวดได้บ้างใน 1-3 วันแรก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้

bookmark_borderเทคนิคสร้างเสริมภูมิคุ้มด้วยการดูแลสุขภาพสำหรับหน้าฝน

วิธีดูแลสุขภาพ ให้แข็งแรงในทุกฤดู สำหรับคนที่อยากฟิตเฟิร์มสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงดี ไม่ต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ กับโรคภัยในแต่ละซีซั่น ลองทำตามเคล็ดลับสุขภาพดีที่เรานำมาฝากกันค่ะ

วิธีดูแลสุขภาพ

  • กิจกรรมดูแลสุขภาพ

ก่อนที่จะกินอะไรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน เราขอพูดถึงหลักปฏิบัติง่าย ๆ กันก่อน

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีผลการศึกษาออกมาแล้วว่าคนที่นอนหลับไม่เพียงพอติดต่อกัน 3 วัน ร่างกายจะอ่อนแอ มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสได้ง่าย ในขณะที่คนนอนหลับประมาณ 7-8 ชม. จะมีอายุยืนยาวมากกว่า นั่นเป็นเพราะการนอนหลับในเวลากลางคืนจะช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง และสำหรับใครที่นอนในห้องปรับอากาศ อย่าปล่อยให้อุณหภูมิห้องแห้งเกินไป เพราะอาจมีผลกระทบกับจมูกและเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจได้

แช่เท้าในน้ำอุ่น วิธีนี้ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ เพราะเป็นการปลุกภูมิคุ้มกันให้ตื่นตัว โดยแช่ตั้งแต่ข้อเท้าลงไปในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 35-40 องศาเซลเซียส ประมาณ 10 นาที จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้งทันทีแล้วห่อด้วยผ้าสะอาด ปล่อยให้อุณหภูมิค่อย ๆ เย็นลงจึงค่อยทาโลชั่นบำรุงผิว

ชีวิตคิดบวก สังเกตไหมว่าคนที่มีความสุขมักไม่ค่อยเจ็บป่วยเท่าไร เพราะการคิดในแง่ดีจะช่วยกระตุ้นสมองส่วนซ้ายให้ทำงาน ซึ่งสมองส่วนนี้ช่วยสร้างแอนติบอดี้ได้ด้วย

นั่งสมาธิ การทำสมาธิประมาณ 30 นาที ช่วยให้การทำงานของสมองและระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น

เดิน เดิน เดิน การเดินเล่นทุกวันในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์จะช่วยบริหารเส้นเลือดให้ยืดหยุ่น ร่างกายจึงปรับตัวกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงได้ดี

ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อเพิ่มสารคัดหลั่งและความชุ่มชื้นของเยื่อบุผิวในท่อทางเดินหายใจส่วนบน และช่วยป้องกันและดักจับฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย

ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะเป็นประจำ นอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงแล้ว ยังช่วยขับของเสียผ่านทางเหงื่อ และเพิ่มปริมาณการไหลเวียนเลือด ส่งผลให้เซลล์ต่าง ๆ ในระบบภูมิต้านทาน เช่น แอนติบอดี้และเม็ดเลือดขาวเดินทางไปทำลายสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น

Super Healthy Foods

อย่าลืมกินอาหารตามตารางนี้ เพื่อชาร์จพลังร่างกายมีภูมิคุ้มกัน

  • ถั่วชนิดต่าง ๆ
  • โยเกิร์ตและนมเปรี้ยวชนิดโพรไบโอติกส์ การกินโยเกิร์ต 7 ออนซ์ต่อวันจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีขึ้น
  • วิตามินซีในผลไม้อย่างฝรั่ง มะม่วง มะละกอ และแคนตาลูป ส่วนในผักก็เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ และพริก
  • วิตามินเอ มีอยู่ในไข่ นม ตับ และเครื่องในสัตว์ หรือผักอย่าง ผักชีฝรั่ง ตำลึง ฟักทอง และมันฝรั่งหวาน
  • วิตามินอี มีอยู่ในเนื้อสัตว์ ไข่ นม เนย ผักกาดหอม ถั่ว ผักกาด แครอท มะเขือเทศ น้ำมันพืช น้ำมันงา
  • สังกะสี สารอาหารสำคัญในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวมีอยู่ในเนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเล โดยเฉพาะหอยนางรม
  • เบต้าแคโรทีน มีมากในผักใบเขียวและผลไม้ที่มีสีเหลือง หรือส้ม เช่น ผักบุ้ง ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก มะเขือเทศ
  • วิตามินบี มีอยู่ในผักใบเขียว นม เนื้อสัตว์ ถั่ว ตับ ไข่ และข้าวซ้อมมือ
  • กระเทียมช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา
  • เอลเดอร์เบอร์รี่ (Elderberry) ในประเทศปานามานิยมนำมาคั้นรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
  • โสมเกาหลี ปรับสภาพร่างกายให้สมดุล
  • ข่า ช่วยป้องกันไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดได้
  • ซุปไก่ เพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวได้เป็นอย่างดี
  • เห็ด เพิ่มประสิทธิภาพและการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว
  • ปลาและสัตว์ที่มีกระดองอย่างหอยหรือปู ช่วยเพิ่มเซลล์ภูมิคุ้มกัน Cytokines ที่ช่วยกำจัดไวรัสหวัด

bookmark_borderรับมืออย่างไร เมื่อป่วยเป็นความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่อยู่มานาน

 

              ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญทางสาธารณสุขที่ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแล เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคไตวายระยะสุดท้าย พื้นฐานการดูแลสุขภาพที่สำคัญสำหรับการควบคุมความดันโลหิตสูง ได้แก่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเองและการรักษาโดยการรับประทานยา การดูแลสุขภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงมีสุขภาพที่ดีและสามารถอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข

ความหมายของความดันโลหิต

ความดันโลหิต” เป็นแรงดันที่ผลักต้านภายในหลอดเลือดในระบบไหลเวียนโลหิต มีค่าตัวเลข 2 ค่า ได้แก่

    ความดันโลหิตซีสโตลิก เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ความดันโลหิตไดแอสโตลิก เป็นค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว
ดังนั้นการรายงานผลความดันโลหิตจึงประกอบด้วยตัวเลข 2 ตัวเสมอ เช่น วัดความดันโลหิตได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท

ความหมายของค่าความดันโลหิตแต่ละระดับ

ความดันโลหิตซีสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท)

น้อยกว่า 120 ความดันโลหิตปกติ
120-139 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
140 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท)

น้อยกว่า 80 ความดันโลหิตปกติ
80-89 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
90 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามจากการแนวปฏิบัติสำหรับการป้องกัน การค้นหา การประเมินและการจัดการของระดับความดัน

โลหิตสูงในผู้ใหญ่ ปี ค.ศ.2017 ได้มีการปรับเปลี่ยนจุดตัดของการวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูง โดยใช้จุดตัด 130/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากแนวปฏิบัติดังกล่าว

สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง

ภาวะความดันโลหิตสูง ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยร่วมบางอย่างที่ทำให้ความดันโลหิตสูง โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ พันธุกรรมและพฤติกรรม และน้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตสูงจากการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด หรือการเกิดเนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น

การดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

อาหาร

หากรับประทานเนื้อสัตว์ ควรเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และควรรับประทานผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป เพราะผลไม้หลายชนิดมีรสหวาน หากเลือกรับประทานนมควรเป็นนมไขมันต่ำ

การออกกำลังกาย

ควรเลือกออกกำลังกายแบบแอโรบิค(Aerobic exercise) หรือการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง ระดับการออกกำลังกายที่สามารถออกได้ คือเบาถึงปานกลาง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักหรือหักโหม

บุหรี่และสุรา

ควรงดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา เนื่องจากทั้งบุหรี่และสุราส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพและระดับความดันโลหิต

การใช้ยา

รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาเอง การรับประทานยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษา

ควบคุมน้ำหนัก

พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม